ค่ายรถญี่ปุ่นได้โชคช่วย เงินเยนอ่อนดันกำไรพุ่ง ขณะที่กำลังพ่ายแพ้ “รถจีน”
วันที่ 17 สิงหาคม 2566 - 10:25 น.
เยนอ่อน ค่ายรถญี่ปุ่น
ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเวลายากลำบากในการแข่งขันกับรถยนต์จีน ปี 2023 จะเป็นปีแรกที่ยอดการส่งออกรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้แก่จีน แม้จะยังไม่จบปี แต่แนวโน้มค่อนข้างแน่นอน เมื่อจีนแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นแชมป์โลกส่งออกรถยนต์ในครึ่งปีแรกไปแล้ว โดยยอดส่งออกรถยนต์ของจีนสูงกว่าญี่ปุ่นทั้งไตรมาส 1 และไตรมาส 2
จีนเป็นตลาดที่ค่ายรถญี่ปุ่นกำลังเผชิญความยากลำบากที่สุด “ฮอนด้า” กับ “นิสสัน” ยอดขายในจีนลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ “โตโยต้า” แม้ในแง่จำนวนรถยนต์ที่ขายในจีนยังไม่หด แต่รายได้จากการดำเนินงานในประเทศจีนลดลง 25% เหลือ 53,600 ล้านเยน
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในปีนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นก็ยังมี “แต้มบุญ” เหลืออยู่ นั่นก็คือการที่ค่าเงินเยน “อ่อน” หนักมาก ทั้งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ประจวบเหมาะกับยอดขายในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น ช่วยให้ค่ายรถญี่ปุ่นมีรายได้และกำไรในหน่วยเงิน “เยน” เพิ่มสูงเกินกว่าคาดไปมาก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ค่ายรถญี่ปุ่นรายใหญ่ ทั้งโตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน และมิตซูบิชิ รายงานรายได้และกำไรช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ปี 2023 (นับเป็นงบการเงิน ไตรมาส 1 ของบริษัทญี่ปุ่น) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ประมาณ 6-21% ซึ่งทุกบริษัทระบุว่า ผลจากการอ่อนค่าของเงินเยนเป็นปัจจัยหนุน
“โตโยต้า มอเตอร์ส” (Toyota Motors) มีรายรับ 10.5 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 24.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) มีกำไรจากการดำเนินงาน 1.1 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 93.7% และกำไรสุทธิ 1.31 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 78% ซึ่งกำไรของโตโยต้าเป็นสถิติกำไรรายไตรมาสสูงสุดของบริษัทญี่ปุ่น
โตโยต้าบอกว่า ทุก ๆ 1 เยน ที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ช่วยให้กำไรจากการดำเนินงานของโตโยต้าเพิ่มขึ้น 45,000 ล้านเยน
“นิสสัน” (Nissan) มีรายรับ 2.9 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 37% (YOY) มีกำไรจากการดำเนินงาน 128,600 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 98% และมีกำไรสุทธิ 105,500 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 124% ซึ่งทำให้นิสสันปรับประมาณการผลกำไรจากการดำเนินงานของทั้งปีงบการเงินนี้เพิ่มขึ้นอีก 30,000 ล้านเยน เป็น 550,000 ล้านเยน ซึ่งมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านเยนที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน
“ฮอนด้า มอเตอร์” (Honda Motor) มีรายได้เฉพาะกลุ่มธุรกิจรถยนต์ 3.03 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 30.1% (YOY) กำไรจากการดำเนินงาน 177,000 ล้านเยน กระโดดขึ้น 362.14% (YOY) จาก 38,300 ล้านเยน
“มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” (Mitsubishi Motors) มีรายรับ 635,800 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 20% (YOY) กำไรจากการดำเนินงาน 45,300 ล้านเยน เพิ่มข้น 47% (YOY)
อย่างไรก็ตาม “ซาโตรุ อาโอยามา” (Satoru Aoyama) ผู้อำนวยการอาวุโสของ “ฟิทช์ เรทติ้งส์ เจแปน” (Fitch Ratings Japan) มองว่า การที่เงินเยนอ่อนทำให้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ชดเชยข้อกังวลอื่น ๆ โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งค่ายรถญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องดิ้นรนในการแข่งขันกับเจ้าถิ่นอย่างหนัก
ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเงินเยนจะอ่อนค่าต่อไปอีกนานแค่ไหน และโชคลาภในยามยากที่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นได้รับจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับเพิ่มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี จุดประกายความคาดหวังว่า BOJ จะหยุดใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้น
“เออิสุเกะ ซากากิบาระ” (Eisuke Sakakibara) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังผู้ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่นก็บอกกับรอยเตอร์ว่า เงินเยนอาจแข็งค่าขึ้นเป็น 130 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปีนี้ (ณ วันที่ 14 ส.ค. อยู่ที่ 144.86 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
…และเมื่อเวลานั้นมาถึง ค่ายรถญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญกับความจริงโดยไม่มี “โชคช่วย”